ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เว็บไซต์ สวนแก้วมังกร ไร่พ่อจอม สวนแก้วมังกรและพริกไทยซีลอน จำหน่ายแก้วมังกรและพริกไทยสด พันธุ์ซีลอน และจำหน่ายกิ่งพันธุ์แก้วมังกร พร้อมให้คำปรึกษา และสามารถเข้าชมสวนเพื่อศึกษาหาประสบการณ์ จากสถานที่จริง ติดต่อ 089-2810449 , 089-2759736,082-1128441

วิธีการปลูก | การปลูกพริกไทยแบบควบคุม ใช้พื้นที่น้อย แต่ได้ผลดี

การปลูกพริกไทยกับการใช้ชีวภัณฑ์

ในการปลูกพริกไทยนั้นเราต้องเข้าใจว่า พริกไทย จะเจริญเติบโตได้ดีกับอากาศที่มีความชื้นสูง แดดไม่แรง ซึ่งในยุคเริ่มต้นของการปลูกพริกไทยนั้น นิยมปลูกกันมากในภาคตะวันออกของประเทศไทยเรา ซึ่งจะเป็นลักษณะอากาศชื้น ฝนชุก มีลมพัดผ่าน ทำให้ไม่มีความร้อนสะสม แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีการเกษตรขึ้นมาก รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเกษตรออนไลน์มีมากขึ้น โดยปัจจุบันสามารถเลียนแบบหรือจำลองบรรยากาศให้มีความชื้นตามแบบที่พริกไทยต้องการได้

การปลูกพริกไทยสมัยใหม่นี้จะมีการพรางแสงให้กับแปลงพริกไทย หรือมีระบบพ่นหมอกบริเวณรอบๆ แปลงปลูก หรือการติดตั้งระบบน้ำการให้น้ำแบบสปริงเกลอร์จากด้านบนลงมา ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยที่จะสามารถปลูกพริกไทยกันได้ทั่วไปในขณะนี้ ซึ่งบรรยากาศที่พริกไทยชอบนี้ก็ไปตรงกับการเจริญเติบโตได้ดีกับเชื้อรา แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์กับพริกไทยหรือพืชอื่นๆ กล่าวคือ จะเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นและมีแสงน้อย

ดังนั้น การปลูกพริกไทยจึงเหมาะอย่างยิ่งที่เราจะมาใช้ชีวภัณฑ์แทนการใช้เคมีภัณฑ์ที่มีแต่อันตรายสะสมแก่ตัวเกษตรกรเองและผู้บริโภคผลผลิตของเกษตรกรที่นำออกไปจำหน่าย เรามาทำความรู้จักชีวภัณฑ์กันก่อน ชีวภัณฑ์ หมายถึง ชีวินทรีย์ ได้แก่ รา แบคทีเรีย ไวรัส ที่ใช้เป็นสารควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช โดยที่ไม่มีอันตรายแก่คนหรือสัตว์ต่างๆ

สำหรับการปลูกพริกไทยนั้น พริกไทย มักจะเป็นโรคที่เกิดจากความชื้น เช่น ราน้ำหมากที่ใบ รากเน่าโคนเน่า ราสนิม ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยและการป้องกันกำจัดโรคที่มักเกิดกับพริกไทยของเรา จึงควรใช้ ชีวภัณฑ์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งชีวภัณฑ์ตัวที่ต้องใช้ควบคู่กับการปลูกพริกไทยตลอดกาลคือ เชื้อไตรโคเดอร์ม่า ซึ่งปัจจุบันนี้ไม่มีความยุ่งยากในการต้องเพาะเลี้ยงเชื้อแล้ว มีผู้ผลิตเชื้อไตรโคเดอร์ม่าชนิดเม็ดเคลือบฟิล์มออกมาจำหน่ายแล้ว เพียงแค่บดให้แตกแล้วผสมน้ำฉีดพ่นได้เลย หรืออาจจะผสมลงในน้ำของถังพ่นหมอกสำหรับแปลงที่มีการติดตั้งระบบพ่นหมอก หรือฉีดพ่นกับเครื่องพ่นทั่วไป โดยพ่นทุก 7-10 วัน

เชื้อไตรโคเดอร์ม่านี้จะป้องกันและกำจัดเชื้อราต่างๆ ที่เป็นโรคประจำตัวของพริกไทยได้ โดยใช้อย่างสม่ำเสมอก็จะไม่มีปัญหาอีกต่อไป ซึ่งที่สวนตนเองใช้มาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องพบว่าได้ผลดี ต้นพริกไทยไม่เจอเรื่องการระบาดของโรคเชื้อรา

ข้อควรระวังสำหรับพริกไทยในช่วงฤดูร้อน

ถือว่าเป็นประสบการณ์โดยตรงของตนเอง คุณนิพนธ์ เล่าว่า ปัจจุบันบ้านเราช่วงฤดูร้อนในปัจจุบันจะมีความยาวนานเป็นพิเศษ และฝนทิ้งช่วงนานหลายเดือน ซึ่งเป็นเหตุให้อุณหภูมิในบางที่สูงเกิน 40 องศาเซลเซียส แม้ในที่ร่มก็ตาม ดังนั้น เมื่ออุณหภูมิสูงมากเช่นนี้ทุกๆ วัน เกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยมักพบปัญหายอดอ่อนหรือกิ่งปราง (แขนง) ที่ออกมาใหม่จะไหม้และแห้ง สุดท้ายจะร่วงหมด โดยพริกไทยต้นที่โตแล้วปลายยอดจะร่วงหมด ส่วนพริกไทยปลูกใหม่ยังไม่แข็งแรง จะค่อยๆ แห้งตายในที่สุด ส่วนใบที่แก่แล้วจะโดนความร้อนเผาไหม้ ทำให้น้ำในใบพริกไทยออกไปหมด ใบพริกไทยจึงค่อยๆ มีสีดำแห้งและร่วงไปในที่สุด

เกษตรกรหลายคนเมื่อพบปัญหาเช่นนี้มักจะรดน้ำเพิ่มขึ้น วันละ 2-3 รอบ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดวิธีเพราะจะไปทำให้เกิดปัญหารากเน่าโคนเน่าตามมาอีก ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ คือ การลดอุณหภูมิหรือควบคุมอุณหภูมิไม่ให้สูงเกินไปในบริเวณแปลงพริกไทย มาดูวิธีกันดังนี้

ระบบให้น้ำจากที่สูง แบบนี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากต้นทุนต่ำ และใช้ร่วมกับระบบให้น้ำพริกไทยเลย โดยการทำระบบน้ำของพริกไทยให้มีความสูงจากพื้น ประมาณ 1.2-1.5 เมตร ตามระหว่างเสาพริกไทยเมื่อให้น้ำความชื้นจึงเกิดขึ้นรอบๆ บริเวณและใบต้นของพริกไทยจะได้รับน้ำด้วย หรือเกษตรกรบางคนอาจจะใช้สายไมโคร PE เป็นท่อนำแนบขึ้นไปกับเสาพริกไทย แล้วให้น้ำมาจากด้านบนเพื่อให้เสาปูนที่ปลูกมีความชื้นและลดความร้อนบริเวณรอบๆ เสาพริกไทยได้

ระบบน้ำพ่นหมอก พ่นละอองน้ำลดอุณหภูมิในแปลงพริกไทย ตั้งเวลารดวันละหลายๆ รอบ

ระบบพ่นหมอก ระบบนี้ต้นทุนสูงมาก ตกไร่ละ 30,000 บาท โดยประมาณ แต่การควบคุมความชื้นจะมีประสิทธิภาพมาก ยิ่งติดตั้งระบบการตั้งเวลาให้ทำงานอัตโนมัติด้วยแล้วยิ่งจะทำให้การทำงานลงตัวยิ่งขึ้น ผลพลอยได้ที่ตามมาคือสามารถใส่สารชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดเชื้อรา แบคทีเรียต่างๆ ปนไปในระบบพ่นหมอกได้เลย ซึ่งถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่คุ้มค่ามาก โดยที่สารชีวภาพพวกนี้ต้องการอุณหภูมิในการแตกสปอร์หรือการขยายเชื้อที่ไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส เช่น เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เป็นต้น สำหรับคนที่ไม่ชอบลงทุนเพิ่มหรือปลูกจำนวนน้อยๆ หลัก ก็ต้องอาศัยความขยันเพิ่มงานคือ ช่วงเที่ยงหรือบ่ายที่มีอุณหภูมิสูง ให้ใช้เครื่องพ่นยาแรงดันสูง เดินพ่นน้ำในแปลงเพื่อลดอุณหภูมิในช่วงนั้นๆ ให้แปลงพริกไทย

การขยายพันธุ์พริกไทย
 

พริกไทย เป็นพืชไม้เลื้อยที่มีระบบรากส่วนหนึ่งที่มีความพิเศษกว่าพืชทั่วไป ที่เราเรียกกันว่า รากอากาศ โดยเมื่อมีความชื้นในอากาศรากนี้จะแตกออกมาจากข้อที่มีความแก่พอเหมาะของกิ่งพริกไทย ดังนั้น ทำให้การขยายพันธุ์พริกไทยสามารถที่จะทำได้ง่าย แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกด้วย เช่น ความชื้นในอากาศ โดยที่อุณหภูมิต้องไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส หากพื้นที่ใดมีอุณหภูมิที่สูงกว่านี้ ควรมีการพรางแสงให้โรงเรือน หรือระบบพ่นหมอกเพื่อลดอุณหภูมิในบริเวณโรงเรือนนั้นด้วย

ส่วนที่นำมาขยายพันธุ์ของพริกไทยซีลอน มีอยู่ 2 ส่วน คือ กิ่งแขนง และกิ่งไหล โดย

กิ่งแขนง หรือชาวสวนพริกไทย เรียก “กิ่งปราง” ซึ่งเป็นกิ่งที่ให้ผลผลิตอยู่แล้วบนต้น เมื่อนำมาปักชำหรือตอนกิ่ง กิ่งแขนงหรือกิ่งปรางเมื่อนำไปปลูกจะมีพัฒนาการสร้างทรงพุ่มอยู่ทางด้านล่างของเสาปลูก เป็นพุ่มเตี้ยออกช่อติดผลเลยทันทีที่ต้นตั้งตัวหรือแตกยอดใหม่หลังการปลูกกิ่งแขนงหรือกิ่งปรางจะให้ผลผลิตเร็ว หากท่านใดมีพื้นที่น้อย ต้องการนำไปใส่กระถางปลูกรับประทานในบ้านเล็กๆ น้อยๆ ก็เลือกต้นพันธุ์จากกิ่งแขนงไปปลูก

กิ่งไหล คือ ส่วนยอดสุดของต้น ที่เรามักพบว่า มักจะเลื้อยห้อยลงมาเมื่ออยู่บนเสาปูน ซึ่งยอดกิ่งไหลนั้นจะมีฮอร์โมนจิบเบอเรลลินสะสมอยู่ในส่วนปลายยอด และที่ยอดอ่อนเป็นจำนวนมาก พัฒนาการทางด้านการเจริญเติบโตและการพุ่งหาแสงจะมีค่อนข้างมาก ถ้านำมาปลูกเชิงการค้า คือปล่อยเลื้อยขึ้นเสาปูน ควรเลือกซื้อต้นพริกไทยที่ตอนหรือชำมาจากกิ่งไหลมาปลูก เพราะจะโตเร็วเลื้อยเกาะขึ้นหลักเร็วกว่าต้นพริกไทยที่ได้จากกิ่งแขนง แต่จะให้ผลผลิตช้ากว่าต้นพันธุ์ที่ได้จากกิ่งแขนง ผลผลิตจะเริ่มเก็บได้ก็ประมาณ 8-14 เดือน หลังปลูก

แต่ถ้าท่านใดเอาส่วนของต้นพันธุ์ที่ได้จากกิ่งแขนงหรือกิ่งปราง เลี้ยงให้ขึ้นหลัก ก็จะนานกว่าส่วนที่เลี้ยงต้นพันธุ์จากไหลยอด เพราะการที่กิ่งแขนงให้ผลผลิตเร็วจะทำให้มีพัฒนาการทางด้านความสูงช้า ดังนั้น ถ้าปลูกแบบการค้าเลื้อยขึ้นเสาปูน จึงใช้ในส่วนของไหลยอดมาขยายพันธุ์ เพราะเลื้อยขึ้นเสาค้างที่มีความสูงได้ดีนั้นเอง

การขยายพันธุ์พริกไทยที่นิยม

มี 2 แบบ คือ

แบบการตอน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นว่าพริกไทยนั้นมีระบบรากอากาศ ดังนั้นทำให้การตอนสามารถทำได้ทันที โดยนำขุยมะพร้าวที่มีความชื้นและบรรจุอยู่ในถุงพลาสติกขนาดเล็กผ่าออก แล้วหุ้มตรงข้อของกิ่งพริกไทยได้เลย พร้อมทั้งมัดด้วยปอฟาง จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ก็จะสามารถตัดกิ่งนั้นออกมาชำลงถุงดำรอปลูกต่อไป

การตอนพริกไทยเหมาะสมที่สุดคือ ช่วงหน้าฝน โดยการขยายพันธุ์แบบการตอนนี้ ก่อนที่ต้นพันธุ์พริกไทยจะปลูกได้นั้น จะต้องมีขั้นตอนอีกหนึ่งขั้นตอนก็คือ ต้องนำตุ้มตอนนั้นมาชำอนุบาลลงถุงดำอีกครั้ง เพื่อให้ต้นพันธุ์พริกไทยมีการเจริญเติบโตของระบบรากที่มั่นคงแข็งแรงและเมื่อนำลงปลูกในแปลงจริงแล้วจะไม่ทำให้พริกไทยนั้นตาย โดยขั้นตอนการชำลงถุงดำนี้ จะใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน โดยดูจากยอดใหม่ที่จะเจริญเติบโตขึ้นมาให้เห็น และระบบรากที่เริ่มทะลุออกมาจากถุงดำบ้างแล้ว

แบบปักชำ สามารถทำได้ทั้งปี การปักชำจะตัดกิ่งออกมาจากต้น ประมาณ 3 ข้อ แล้วนำมาปักลงในถุงดำที่บรรจุดินได้เลย แล้วนำไปใส่ถุงอบหรืออุโมงค์อบ หรือไว้ในที่ร่มที่มีการควบคุมอุณหภูมิ เช่น ที่ที่มีระบบพ่นหมอก ใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงจะสามารถนำไปปลูกลงแปลงได้ โดยทั่วไปถ้านำไปไว้ในที่ร่มและคอยรดน้ำนั้น จะมีอัตรารอดประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากต้องการให้มีอัตรารอดของการขยายพันธุ์พริกไทยแบบปักชำสูง ควรมีระบบควบคุมอุณหภูมิ

จากการขยายพันธุ์ทั้ง 2 แบบข้างต้นนั้น แบบที่ให้อัตรารอดสูงคือ แบบการตอน แต่ขั้นตอนการทำอาจจะใช้เวลานานสักหน่อย เพราะต้องนำมาชำลงถุงดำอีกที แต่ก็คุ้มค่ากับอัตราการรอดและความแข็งแรงของต้นพันธุ์ ส่วนแบบปักชำนั้นเหมาะกับการผลิตจำนวนมาก เพราะขั้นตอนการทำนั้นกระชับรวดเร็ว ทำได้ง่าย ขั้นตอนน้อย ดังนั้น การขยายพันธุ์ทั้ง 2 แบบ สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของเกษตรกรเอง

 

ไม่ว่าเกษตรกรผู้ปลูกพริกไทยจะเลือกวิธีการใดก็แล้วแต่ ควรจะต้องคำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะลงมือทำ หรือการพินิจพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วย ซึ่งในปัจจุบันคนนิยมปลูกพริกไทยกันมากขึ้น เนื่องจากความต้องการผลผลิตมีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะฤดูแล้งพริกไทยจะมีราคาสูงสุดถึงขีดละ 40 บาท หรือกิโลกรัมละ 400 บาท เลยทีเดียว

LINE ID : @jomgarden